โลกแบบใหม่ เศรษฐกิจแบบใหม่และประชาธิปไตยแบบใหม่
เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ วันจันทร์ที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนบรรยากาศหันไปพูดถึงเรื่อง “เงินๆทองๆ” กันเป็นประเดิมเริ่มแรก ปลายสัปดาห์ หรือปิดท้ายสัปดาห์นี้ คงต้องขออนุญาตหยิบเอาเรื่องราวทำนองนี้ มาว่ากันต่ออีกสักเล็กๆน้อยๆ
เพราะช่วงระหว่างนี้ก็น่าจะพอเป็นที่รับรู้ รับทราบ “รู้อยู่แก่ใจ” ของบรรดาผู้บริโภคข่าวสารโดยทั่วๆ ไป ว่าบรรดาพวกโลกตะวันตกหรือคุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรยุโรปทั้งหลาย ต่างก็กำลังต้องเผชิญกับปัญหา “ความเชื่อ” ในเรื่องเงินๆ-ทองๆ อันถือเป็นสิ่งที่สำมะคัญเอามากๆ โดยเฉพาะสำหรับระบบเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมเสรี” ที่มีแต่ต้องอาศัยสิ่งที่ว่าเป็นเสาค้ำเป็นเครื่องพยุง เพื่อมิให้อะไรต่อมิอะไรมันแหลกสลาย ล่มสลาย แบบทั้งกะบิ ทั้งสิ้น ทั้งพวงเอาง่ายๆ โดยเฉพาะต่อกรณีการเงิน-การธนาคารด้วยแล้ว ถ้าใครต่อใครเกิด “ไม่เชื่อ” ขึ้นมาเมื่อไหร่ ต่อให้ธนาคารที่ใหญ่ขนาดไหน แข็งแกร่งขนาดไหน มีสินทรัพย์มากมายมหาศาลขนาดไหน จะ “Too Big to Fail” เพียงใดต่อเพียงใดก็แล้วแต่ ย่อมมีสิทธิหัวทิ่ม หัวคะมำ ถึงขั้น “เจ๊ง…กับ…เจ๊ง” เอาง่ายๆ
การล้มคว่ำ คะมำหงาย ของ 3 แบงก์ในอเมริกา ตามด้วยแบงก์ยุโรปไม่ว่า “Credit Suisse” ที่ต้องถูกเทคโอเวอร์โดยแบงก์คู่แข่งอย่าง “UBS” ชนิดแม้ว่าประธานธนาคารอย่าง “นายAxel Lehmann” จะออกมาขอโทษ ขอโพย ต่อบรรดาผู้ถือหุ้นกันสักกี่ครั้ง-กี่หนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความแค้นตาแม้น ของบรรดาผู้ที่ถูก “ลอยแพ” หรือผู้ที่ทรัพย์สินในมือเหลือค่าเท่ากับ “ศูนย์” ทุเลาเบาบางลงไปเลยแม้แต่น้อย ไปจนถึง “Deutsche Bank” ของเยอรมนี ที่ถือเป็นแบงก์ระดับ “Systemically Important Financial Institution” เอาเลยถึงขั้นนั้น มีความสำคัญต่อระบบทั่วทั้งระบบ มีความโยงใยต่อสถาบันการเงินการธนาคารชนิดนุงนัง นัวเนีย จนยากที่จะสาง ยากจะแก้กันได้ง่ายๆ แต่ในเมื่อราคาหุ้นระดับ 100 ยูโรเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ดันตกจากหอคอย่นเหลือเพียงแค่ 10 ยูโรเท่านั้นเองในทุกวันนี้ โอกาสที่จะฟื้นความเชื่อ ความมั่นอก-มั่นใจ ให้หวนคืนมาอย่างเดิม ก็แทบเป็ง-ปาย-ม่าย-ล่าย ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น นั่นยังไม่รวมไปถึงธนาคาร “Barclays Bank” ของอังกฤษ ธนาคาร “BNP Paribas” ของฝรั่งเศส ฯลฯ ที่ต่างหุ้นร่วงผล็อยๆ ต่างหะมอยรอมแรมไปด้วยกันทั้งสิ้น
ยิ่งเมื่อเจอกับนักเศรษฐศาสตร์ระดับที่เหนือซะยิ่งกว่าพวก “กูรู-กูรู้” ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า อย่างเช่น “ศาสตราจารย์Nouriel Roubini” แห่งวิทยาลัยธุรกิจสเติร์น มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ประธานบริษัท “Roubini Global Economics” ผู้ได้ชื่อ ฉายาว่า “Doctor Doom” อันเนื่องมาจากการวิเคราะห์ ทำนายทายทักถึงความล่มสลายทางเศรษฐกิจแบบแม่นยำราวตาเห็นชนิดครั้งแล้ว ครั้งเล่า ออกมาฟันธงและฟันเฟิร์มแบบเต็มผืน เต็มด้าม เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ถึงขั้นว่าบรรดาธนาคารในอเมริกาโดยส่วนใหญ่กำลังอยู่ในภาวะ “ใกล้ๆ ล้มละลายทางเทคนิค” (Technically near insolvency) เอาเลยถึงขั้นนั้น!!! ส่วนอีกนับร้อยๆ ธนาคารอยู่ในขั้น “Fully insolvency” หรือล้มละลายไปแล้วโดยเบ็ดเสร็จสมบูรณ์
นี่ใครจะเชื่อ ไม่เชื่อก็แล้วแต่จะว่ากันไป แต่ที่แน่ๆ ก็คือในแง่ของ “ความเชื่อ” ต่อระบบการเงิน-การธนาคารในโลกตะวันตกช่วงนี้ น่าจะออกไปทางก๋วยเตี๋ยวเวียดนาม หรือออกไปทาง “โรคจู๋” อะไรประมาณนั้น เพราะโดยเหตุผล ข้อวิเคราะห์ของศาสตราจารย์วันสิ้นโลกรายนี้ ก็ใช่ว่าจะต่อล้อ ต่อเถียงกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะการหยิบยกเอา “เหตุปัจจัย” ของปัญหา อันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการแก้ปัญหา “เงินเฟ้อ” ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ แบบอุตลุดชุลมุนวุ่นวาย จนทำให้สินทรัพย์ต่างๆ ที่บรรดาธนาคารแต่ละธนาคารถือครอง เกิดอาการ “เสื่อมราคา” หนักหนา-สาหัสยิ่งกว่าการกำขี้ดีกว่ากำตดไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า หรือก่อให้เกิดการ “ติดเชื้อ” ในระบบการเงิน-การธนาคาร แบบชนิดยากส์ส์ส์ที่จะแก้ไข เยียวยาด้วยการใส่เงิน-ใส่ทอง เข้าไปในแบงก์แต่ละแบงก์ และด้วยเหตุผลเช่นนี้นี่เองที่แม้แต่นักการเงิน-การธนาคารระดับ “CEO” ของธนาคาร “ANZ” (Australia and New Zealand Banking Group) อย่าง “นายShayne Elliott” ยังหนีไม่พ้นต้องออกมายอมรับ ว่าไม่ว่าจะแก้กันยังไง แก้ด้วยวิธีไหน แต่การแก้ปัญหาการเงิน-การธนาคารในโลกตะวันตกยังคงไม่แล้วเสร็จ แถมยังอาจกลายเป็นตัว “ลั่นไก” ให้เกิด “วิกฤตการเงินโลก” ขึ้นมาในอีกไม่ใกล้-ไม่ไกล
อันนี้ก็คงไม่ต่างอะไรไปจากปัญหา “เงินดอลลาร์” ของคุณพ่ออเมริกาเขานั่นแหละ ที่เคยอาศัยเพียงแค่ “อุปสงค์-อุปทาน” เป็นตัวค้ำยันมูลค่าโดยไม่ได้มีสินทรัพย์ใดๆ หนุนหลังเอาเลยแม้แต่น้อย แต่นับวันเมื่อสิ่งที่เรียกว่า “ความเชื่อ” มันได้หดหาย คลายจาง จนแทบไม่เหลือติดปลายนวมไปแล้วในทุกวันนี้ แม้ว่ายังไม่ถึงกับต้องกลายเป็น “แบงก์กงเต๊ก” กลายสภาพเป็นกระดาษเช็ดก้นก็ตาม แต่จากที่เคยครอบงำตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา เคยถูกใช้เป็นทุนสำรองของแต่ละประเทศมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ช่วงปี ค.ศ. 1999 แต่มาบัดนี้…เหลือเพียงแค่ 59.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง หายวับไปกับตาเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์เอาเลยถึงขั้นนั้น ถ้าว่ากันตามความคิด-ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ อย่างเช่นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจมหภาคและการเงินแห่งมหาวิทยาลัย “Fribourg” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ “นายSergio Rossi” ที่สรุปเอาไว้ว่า โดยภาวะเช่นนี้ต้องถือเป็นการสูญเสีย “อำนาจอย่างอ่อน” (Soft Power) ระดับทั่วทั้งโลกของคุณพ่ออเมริกา อันจะส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงและรุนแรง ต่อการดำรงสถานะเป็น “จ้าวโลก” ของอเมริกา ไม่ว่าในแง่การค้าระหว่างประเทศหรือการประกอบธุรกรรมทางการเงินก็ตาม อีกทั้งยังอาจถือเป็นตัวตอกย้ำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่เรียกขานกันในนาม “โลกหลายขั้วอำนาจ” นั้น เป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธใดๆ ได้อีกต่อไปแล้ว
ข่าวเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติม >>> น้ำมันฟื้นคืน-ทองคำบวก หุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ จับตานโยบายดอกเบี้ยเฟด